วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

第十一课:我在语言大学对外汉语学院学习。 บทที่ 11: ฉันเรียนที่คณะการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ มหาวิทยาลัยภาษา

第十一课:我在语言大学对外汉语学院学习。
บทที่ 11: ฉันเรียนที่คณะการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ มหาวิทยาลัยภาษา

บทสนทนาที่ 1

  • tài gǎn xiè le nǐ  zài nǎr  dú shū
    太  感  谢 了!你 在  哪儿 读 书?
    ขอบคุณมากค่ะ พี่เรียนหนังสือที่ไหนคะ
  • bú kè qi wǒ zài yǔ yán dà xué duì wài
    不 客 气。我  在  语  言  大  学  对  外
    hàn yǔ xué yuàn xué xí
    汉  语  学  院  学  习。
    ไม่เป็นไรครับ พี่เรียนที่คณะการสอนภาษาจีนสำหรับชาวต่างชาติ

บทสนทนาที่ 2

  • wǒ de bà ba zài yǔ yán dà xué  gōng zuò
    我  的 爸 爸  在  语  言  大  学   工  作。
    tā shì yī wèi hàn yǔ lǎo shī
    他 是 一 位  汉 语  老  师。
    คุณพ่อหนูทำงานที่มหาวิทยาลัยภาษาค่ะ พ่อเป็นอาจารย์สอนภาษาจีน
  • tā xìng shén me
    他 姓  什  么?
    อาจารย์แซ่อะไรเหรอครับ
  • tā xìng zhāng
    他  姓  张。
    คุณพ่อแซ่จางค่ะ
  • zhè me qiǎo wǒ de lǎo shī yě xìng zhāng
    这  么  巧! 我  的  老  师  也  姓  张。
    บังเอิญจังครับ อาจารย์ของพี่ก็แซ่จาง


คำอธิบายการใช้ภาษา

1. คำอุทานเสริมบท "了"

คำว่า "了"(le) ในประโยค "太感谢了"(tài gǎn xiè le) เป็นคำอุทานเสริมบท "了" ในลักษณะการใช้แบบนี้จะแสดงถึงอารมณ์หรือน้ำเสียงทอดถอนใจหรือตกใจ

2. คำลักษณนาม

1) หากต้องการบอกจำนวนของคำนาม เราจะต้องใช้คำลักษณนามมาขยายคั่นกลางระหว่างคำบอกจำนวนและคำนามเสมอ รูปแบบการวางลำดับคำคือ จำนวน + คำลักษณนาม + คำนาม โดยคำนามแต่ละคำจะใช้คำลักษณะนามเฉพาะที่ต่างกันไป เช่น "一位"(yí wèi, หนึ่งท่าน) เป็นคำลักษณนามที่ใช้กับคนและถือเป็นการให้เกียรติแก่ผู้ที่กล่าวถึง ส่วนคำลักษณนามที่ใช้บ่อยที่สุดคือ "个" (gè, หมายถึง ชิ้น, อัน, คน เป็นต้น) นอกจากนี้ยังมีคำลักษณนามที่ใช้บ่อยอื่นๆ ได้แก่
  辆(liàng, คัน) ใช้กับยานพาหนะประเภทรถ ได้แก่ รถยนต์ จักรยานยนต์ จักรยาน ฯลฯ เช่น
    一辆车(yí liàng chē, รถหนึ่งคัน)
    两辆自行车(liǎng liàng zì xíng chē, จักรยานสองคัน)
  双(shuāng, คู่) ใช้กับสิ่งที่เป็นคู่ เช่น
    一双鞋子(yì shuāng xié zi, รองเท้าหนึ่งคู่)
  只(zhī ตัว, ข้าง) ใช้กับสัตว์ส่วนใหญ่หรือใช้กล่าวถึงวัตถุชิ้นหนึ่งหรือสิ่งสิ่งหนึ่งของสิ่งที่มีอยู่เป็นคู่ เช่น 
    三只狗(sān zhī gǒu, สุนัขสามตัว) 
    一只手(yì zhī shǒu, มือหนึ่งข้าง)
  件(jiàn, ชุด) ใช้กับเสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง พัสดุหรือหีบห่อ ฯลฯ เช่น
    一件衣服(yí jiàn yī fu, เสื้อผ้าหนึ่งชุด)
  本(běn, เล่ม) ใช้กับสมุด หนังสือหรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นเล่ม เช่น 
    一本书(yì běn shū, หนังสือหนึ่งเล่ม)
  张(zhāng, แผ่น, ใบ) ใช้กับวัตถุที่มีลักษณะเป็นแผ่นค่อนข้างบาง ได้แก่ กระดาษ รูปถ่าย ฯลฯ เช่น
    三张照片(sān zhāng zhào piàn, รูปถ่ายสามใบ)
  台(tái, เครื่อง) ใช้กับอุปกรณ์ เครื่องใช้ เครื่องจักรกลต่างๆ เช่น 
    一台电脑(yì tái diàn nǎo, คอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง)
  块(kuài, ชิ้น, ก้อน) ใช้กับ เช่น 
    一块肉(yí kuài ròu, เนื้อหนึ่งชิ้น)
2) หากต้องการบอกว่าคำนามมีจำนวน2 (คน, อัน) ปกติจะใช้คำว่า "两"(liǎng, ซึ่งแปลว่า "สอง" เช่นกัน) จะไม่ใช้คำว่า "二"(èr) เช่น "两个"(liǎng gè, สองอัน/คน) แต่เมื่อต้องการบอกว่าคำนามมีจำนวน20 โดยทั่วไปจะใช้คำว่า "二" แทนเลขสองในหลักสิบ จะไม่ใช้คำว่า "两" เช่น "二十天" (èr shí tiān, ยี่สิบวัน) ส่วนการบอกจำนวนของคำนามตั้งแต่หลักร้อยขึ้นไป หากตัวเลขในหลักสูงสุดเป็นเลข 2 เราสามารถอ่านเลขในหลักสูงสุดนี้ว่า "二" หรือ "两" ก็ได้ ส่วนเลข 2 ในหลักอื่นๆ ให้อ่านว่า "二" เช่น "226个" จะอ่านว่า "两百二十六个" (liǎng bǎi èr shí liù gè) หรือ "二百二十六个"(èr bǎi èr shí liù gè) ก็ได้้

3. คำช่วยโครงสร้าง "的"

คำว่า "的"(de) ในบทนี้เป็นคำช่วยโครงสร้างที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของ เช่น
  我的 (wǒ de, ของฉัน)
  你的 (nǐ de, ของคุณ)
  他的 (tā de, ของเขา)
  它的 (tā de, ของมัน)

4. 这么……

"这么……" หมายถึง "...ขนาด/อย่างนี้" เป็นคำขยายบอกระดับว่า "มากขนาด/อย่างนี้" มักตามหลังด้วยคำคุณศัพท์หรือคำวิเศษณ์ เช่น "这么慢!"(zhè me màn)หมายถึง ช้า(มาก)ขนาด/อย่างนี้

เกร็ดวัฒนธรรม

ขงจื๊อ

ขงจื๊อนักปราชญ์และนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ของจีน มีชื่อว่าชิว มีสมญาว่าจ้งหนี เป็นคนรัฐหลู่ในสมัยชุนชิว

ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่นามขงจื๊อนับเป็นผู้รวบรวมแนวคิดทางวัฒนธรรมของชนชาติจีนและตั้งสำนักปรัชญาลัทธิหรูขึ้น แนวความคิดแรกที่ขงจื๊อเสนอ คือ "เหริน" (ความรัก) แนวคิดนี้เสนอให้ผู้ปกครองรักและเอาใจใส่ประชาชน ไม่กดขี่ประชาชนจนเกินควร ทั้งนี้เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชนชั้นในสังคม ต่อมาท่านได้เสนอให้ผู้ปกครองใช้คุณธรรมในการปกครอง ต่อต้านการปกครองด้วยความรุนแรงและการลงโทษหรือการเข่นฆ่าตามอำเภอใจ ปรัชญาแนวคิดที่สำคัญอื่นๆ ของขงจื๊อ ได้แก่ "เหรินอี้" (ความรักและความถูกต้อง) "หลี่เย่ว์" (พิธีกรรมและดนตรี) "การปกครองด้วยคุณธรรมและการขัดเกลาด้วยการศึกษา" ตลอดจน "กษัตริย์ถือประชาชนเป็นหลักในการปกครอง" ปรัชญาลัทธิหรูได้แทรกซึมสู่ทุกๆ ด้านของชีวิตและวัฒนธรรมของชาวจีน จนกลายเป็นระบบแนวคิดหลักของวัฒนธรรมศักดินาตลอดระยะเวลากว่า 2,000 ปี ทั้งยังมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อแนวคิดของชาวจีนในยุคต่อๆ มา

นอกจากขงจื๊อจะเป็นนักปราชญ์แล้ว ท่านยังเป็นนักการศึกษาผู้ยิ่งใหญ่ของจีนด้วย ในสมัยสังคมทาส การศึกษาจำกัดอยู่ภายในราชสำนัก ดังนั้นจึงมีเพียงลูกหลานของชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้รับการศึกษา ในสภาพสังคมเช่นนั้น ขงจื๊อได้ทำลายข้อจำกัดดังกล่าวด้วยการตั้งโรงเรียนขึ้นเองและเปิดรับนักศึกษาจากทุกชนชั้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่สามัญชน แนวคิดด้านการศึกษาของขงจื๊อได้แก่ "สอนตามคุณสมบัติของผู้เรียน" ซึ่งหมายถึงใช้วิธีการสอนที่แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติหรือข้อจำกัดที่แตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาอื่นๆ ที่ขงจื๊อได้กล่าวไว้ เช่น การศึกษาต้องหมั่นทบทวนบทเรียน "การทบทวนหรือพิจารณาความรู้เดิมจะทำให้เกิดมุมมองความคิดใหม่" ควรเรียนรู้อย่างซื่อสัตย์ กล่าวคือ "เมื่อรู้บอกว่ารู้ เมื่อไม่รู้จงยอมรับว่าไม่รู้" และต้องศึกษาพร้อมขบคิดพิจารณาควบคู่กันไป

เชื่อกันว่า ในวัยชราขงจื๊อได้เขียนคัมภีร์เกี่ยวกับวัฒนธรรมโบราณไว้หลายเล่ม เช่น ซือ(คัมภีร์กาพย์) และ ซู(คัมภีร์รัฐศาสตร์) เป็นต้น นอกจากนี้ท่านยังได้บันทึกประวัติศาสตร์ของรัฐหลู่ไว้ในคัมภีร์ชุนชิวด้วย คัมภีร์ที่กล่าวถึงเหล่านี้ล้วนมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์และพัฒนาวัฒนธรรมโบราณของจีนเป็นอย่างยิ่ง

ระบบการสอบในสมัยโบราณของจีน

ระบบการสอบเข้ารับราชการเป็นระบบที่ราชสำนักจีนในสมัยสังคมศักดินาจัดขึ้นเพื่อคัดเลือกปัญญาชนเข้ารับราชการ ระบบการสอบนี้เริ่มใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุยจนถึงราชวงศ์ชิง ระบบการสอบดังกล่าวแบ่งออกเป็นการสอบในระดับต่างๆ หลายขั้น ดังเช่นระบบการสอบเข้ารับราชการในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีการสอบในระดับที่สำคัญดังนี้

การสอบถงเซิง
การสอบถงเซิงคล้ายกับการสอบเพื่อเข้าศึกษาต่อในปัจจุบัน ผู้สมัครสอบในระดับนี้ทุกคน ไม่ว่าจะมีอายุมากน้อยเท่าไรก็ตาม จะเรียกว่า "ถงเซิง" (ซึ่งแปลตามตัวอักษรว่า "นักศึกษาเด็ก") ดังนั้นจึงเรียกการสอบในระดับนี้ว่า "การสอบถงเซิง" การสอบถงเซิงเป็นการสอบในระดับท้องถิ่นซึ่งแบ่งย่อยออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ การสอบระดับอำเภอ การสอบระดับจังหวัด และการสอบย่วนซื่อซึ่งจัดโดยขุนนางที่ราชสำนักมอบหมายหน้าที่มาโดยตรง ในการสอบ 3 ระดับนี้ การสอบระดับอำเภอถือว่าสำคัญที่สุด การจัดสอบระดับอำเภอจะดำเนินการโดยขุนนางประจำอำเภอต่างๆ หากผู้เข้าสอบสอบผ่านในระดับนี้ก็จะได้รับเลือกเป็น "เซิงหยวน" (บัณฑิตระดับอำเภอ) หรือมักเรียกกันทั่วไปว่า "ซิ่วฉาย"

การสอบระดับภูมิภาค
ผู้ที่มีสิทธิเข้าสอบในระดับภูมิภาคหรือ "เซียงซื่อ" คือ"เซิงหยวน" การสอบในระดับนี้จะจัดขึ้นทุก 3 ปีที่เมืองหลวงของมณฑลต่างๆ เนื่องจากการสอบมักจัดขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกการสอบในระดับนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ชิวซื่อ" หรือการสอบในฤดูใบไม่ร่วง ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกในระดับนี้เรียกว่า "จี่ว์เหริน" หรือมักเรียกกันทั่วไปว่า "จ้งจี่ว์"

การสอบระดับประเทศ
"จี่ว์เหริน" ของมณฑลต่างๆ จะเดินทางมายังเมืองปักกิ่งเพื่อเข้าสอบ "ฮุ่ยซื่อ" หรือการสอบระดับประเทศซึ่งจัดขึ้นทุก 3 ปีเช่นกัน เนื่องจากการสอบมักจัดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิ จึงเรียกการสอบในระดับนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "ชุนซื่อ" หรือการสอบในฤดูใบไม้ผลิ ผู้ที่สอบผ่านในระดับนี้เรียกว่า "ก้งเซิง" หากบัณฑิตคนใดสอบได้เป็น"ก้งเซิง" ก็จะมีสิทธิได้รับคัดเลือกให้ถวายการรับใช้จากกษัตริย์ ดังนั้นการสอบได้เป็นก้งเซิงจึงถือว่าได้เป็นการก้าวสู่เส้นทางการเป็นขุนนางแล้ว

การสอบในพระราชวัง
"เตี่ยนซื่อ" หรือการสอบในพระราชวัง เป็นการสอบคัดเลือก "ก้งเซิง" ที่จัดขึ้นในเขตพระราชวังและใช้ข้อสอบที่กษัตริย์ทรงเป็นผู้ออกเอง ผู้ที่ผ่านการสอบในระดับนี้มีจำนวนจำกัด โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มที่ดีที่สุด หรือเรียกว่า "ซานจย่า" ในแต่ละกลุ่มจะมีผู้ได้รับคัดเลือกเพียง 3 คน ผู้ที่สอบได้อันดับหนึ่ง สองและสามของแต่ละกลุ่มจำนวน 9 คนนี้เรียกว่า "จิ้นซื่อ" ในกลุ่มอีจย่า(กลุ่มที่หนึ่ง) ผู้ที่สอบได้อันดับหนึ่งจะได้รับตำแหน่ง "จ้วงหยวน" (จอหงวน) หรือเรียกว่า "เตี่ยนหยวน" หรือ "ติ่งหยวน" ผู้ที่สอบได้อันดับสองจะได้รับตำแหน่ง "ป๋างเหยี่ยน" และผู้ที่สอบได้อันดับสามจะได้รับตำแหน่ง "ทั่นฮวา" ในสมัยราชวงศ์ชิง หลังจากผ่านการสอบเตี่ยนซื่อแล้ว จิ้นซื่อทุกคนยังต้องเข้าสอบ "เฉาข่าว" หรือการสอบในเขตพระราชฐานอีกครั้ง โดยการสอบครั้งนี้จะมีขุนนางชั้นสูงเป็นผู้ตรวจข้อสอบ เมื่อเสร็จสิ้นการสอบจะมีการจัดลำดับตามอันดับในการสอบเตี่ยนซื่อและคะแนนจากการสอบเฉาข่าว จากนั้นกษัตริย์จะเป็นผู้พระราชทานตำแหน่งขุนนางแก่บัณฑิตเหล่านี้ตามความเหมาะสม ดังนั้นหากบัณฑิตคนใดสอบได้เป็นจิ้นซื่อก็เท่ากับว่าได้เป็นขุนนางในราชสำนักค่อนข้างแน่นอนแล้ว

การสอบเข้ารับราชการของจีนถือเป็นระบบสำคัญในการคัดสรรบุคคลเข้ารับราชการในสมัยศักดินา จึงมีคำพูดที่ว่า "เรียนหนังสือเพื่อเป็นขุนนาง" ในภาษาจีนมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

ปั๋วซื่อ(ดุษฎีบัณฑิต) ซั่วซื่อ(มหาบัณฑิต)และเสวียซื่อ(บัณฑิต)ในสมัยโบราณของจีน

ปั๋วซื่อ
"ปั๋วซื่อ" ซึ่งปัจจุบันหมายถึงดุษฎีบัณฑิตนั้น ในสมัยโบราณเป็นชื่อตำแหน่งขุนนาง มีการเริ่มใช้คำนี้เป็นชื่อตำแหน่งขุนนางในสมัยจั้นกั๋ว(รัฐสงคราม) ในสมัยจักรพรรดิฉินซี ปั๋วซื่อทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษาของรัฐบาล แต่หลังจากสมัยราชวงศ์ฮั่น ปั๋วซื่อได้กลายมาเป็นชื่อตำแหน่งขุนนางด้านการศึกษาซึ่งมีหน้าที่สอนหนังสือ นอกจากนี้ยังได้มีการมอบตำแหน่งนี้ให้กับขุนนางที่มีศิลปวิทยาการหรือมีความรู้เฉพาะทางด้วย เช่น หลังสมัยราชวงศ์เว่ยและจิ้นมีตำแหน่งปั๋วซื่อแพทย์หลวง ปั๋วซื่อด้านการเสี่ยงทาย เป็นต้น หลังสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง คำว่าปั๋วซื่อกลายเป็นคำเรียกผู้ที่ประกอบอาชีพบางประเภท เช่น ฉาปั๋วซื่อ(ปั๋วซื่อชา) จิ่วปั๋วซื่อ(ปั๋วซื่อสุรา) เป็นต้น

ซั่วซื่อ
"ซั่วซื่อ" ซึ่งปัจจุบันหมายถึงมหาบัณฑิตนั้น ในสมัยโบราณเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ที่มีความรู้กว้างขวางและมีคุณธรรมสูงส่ง แต่คำนี้กลับปรากฏในบันทึกทางประวัติศาสตร์ไม่มากนัก จึงเป็นไปได้ว่าคำว่า "ซั่วซื่อ" ไม่ใช่ชื่อตำแหน่งขุนนางที่เป็นทางการ นอกจากนี้ในสมัยโบราณยังมีการใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า "ซั่วซื่อ" ได้แก่ "ซั่วเหล่า" และ "ซั่วหรู" เรียกผู้ที่มีความรู้กว้างขวางด้วย

เสวียซื่อ
"เสวียซื่อ" ซึ่งปัจจุบันหมายถึงบัณฑิตนั้น ในสมัยโบราณเป็นคำที่ใช้เรียกบุตรหลานของชนชั้นสูงที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียน ต่อมาคำนี้ได้กลายเป็นชื่อตำแหน่งขุนนาง "เสวียซื่อ" เป็นคำเรียกรวมๆ ของผู้ที่มีความรู้และผู้ที่เข้าศึกษามาเป็นเวลานาน หลังสมัยราชวงศ์เว่ยและจิ้น เสวียซื่อจึงได้กลายเป็นชื่อตำแหน่งขุนนางอย่างเป็นทางการ หมายถึงผู้ที่ศึกษาศิลปวิทยาการมานานและเข้าถวายการรับใช้ราชสำนัก ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง เสวียซื่อมีฐานะสูงขึ้นมาก กระทั่งสามารถเข้าร่วมในกิจการของราชสำนักได้ หัวหน้าคณะเสวียซื่อคือฮั่นหลินเสวียซื่อ ฮั่นหลินเสวียซื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและราชเลขาธิการที่กษัตริย์ทรงไว้วางพระทัย ดังนั้นจึงมักเรียกว่าเสนาธิการฝ่ายในด้วย ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หากผู้ใดได้รับตำแหน่งฮั่นหลินเสวียซื่อ ผู้นั้นก็มีโอกาสจะได้ขึ้นเป็นอัครเสนาบดีต่อไป ในสมัยราชวงศ์ชิงหัวหน้าคณะเสวียซื่อเรืองอำนาจมาก ถือเป็นระดับชั้นขุนนางสูงสุดของขุนนางฝ่ายพลเรือน