第六课:请问邮局在哪儿?
บทที่ 6: ขอถามหน่อย ไปรษณีย์อยู่ไหน
บทสนทนาที่ 1
- qǐnɡ wèn yóu jú zài nǎ ér请 问 邮 局 在 哪 儿?ขอถามหน่อยครับ ที่ทำการไปรษณีย์อยู่ไหนครับ
- xiànɡ qián zǒu zuǒ zhuǎn jiù dào le向 前 走, 左 转 就 到 了。我 正 要 去, 跟 我 来 吧!เดินไปข้างหน้า เลี้ยวซ้ายก็ถึงแล้วครับ ผมกำลังจะไปที่นั่นพอดี ไปกับผมก็แล้วกัน
บทสนทนาที่ 2
- qǐnɡ wèn tú shū ɡuǎn zài shén me dì fanɡ请 问 图 书 馆 在 什 么 地 方?ขอถามหน่อยครับ ห้องสมุดอยู่ไหนครับ
- jiù zài nà ér就 在 那 儿。อยู่นั่นไงครับ
- xiè xie谢 谢!ขอบคุณครับ
- bú kè qi不 客 气。ไม่ต้องเกรงใจครับ
คำอธิบายการใช้ภาษา
1. 向前走
"向前走"(xiàng qián zǒu) หมายถึง "เดินไปข้างหน้า"
2. 左转
"左转"(zuǒ zhuǎn) แปลว่า "เลี้ยวซ้าย" เราจะสังเกตเห็นว่าในภาษาจีนจะพูดทิศทางก่อน แล้วจึงตามด้วยกิริยาท่าทาง นอกจากนี้ "เลี้ยวซ้าย" ยังพูดเป็นภาษาจีนได้ว่า "向左转"(xiàng zuǒ zhuǎn)
3. คำช่วยน้ำเสียง "吧"
"吧"(ba) อาจเทียบกับภาษาไทยได้ว่า "เถอะ, ก็แล้วกัน" ใช้วางท้ายประโยคบอกเล่า แสดงน้ำเสียงในการให้คำแนะนำ
4. 不客气
เรามักใช้สำนวน "不客气"(bù kè qi) มาตอบรับคำขอบคุณ "谢谢" (xiè xiè, หรือจะใช้สำนวน "不用谢" (bú yòng xiè, ไม่ต้องขอบคุณ)) ก็ได้ "不客气" หากแปลตามตัวอักษรหมายถึง "ไม่ต้องเกรงใจ"
5. 正
"正"(zhèng) มีความหมายว่า "กำลัง/กำลัง...อยู่พอดี" ดังนั้น "正要"(zhèng yào) จึงหมายถึง "กำลังจะ...อยู่พอดี"
เกร็ดวัฒนธรรม
เข็มทิศ
"จื่อหนานเจิน" หรือเข็มทิศเป็นหนึ่งในสี่ของสิ่งประดิษฐ์สำคัญของจีนโบราณ เข็มทิศมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปี ปรากฏครั้งแรกในยุคจั้นกว๋อ(รัฐสงคราม)
เข็มทิศในยุคแรกทำจากหินแม่เหล็กธรรมชาติ รูปร่างคล้ายช้อนที่มีพื้นด้านล่างเรียบและมัน สามารถหมุนได้อย่างอิสระบน "ตี้ผาน" (จานบ่งทิศทาง) ซึ่งทำจากทองแดงหรือไม้ เมื่อเข็มทิศที่หมุนหยุดนิ่งแล้ว ส่วนที่เหมือนคันช้อนของเข็มทิศจะชี้ไปทางทิศใต้เสมอ ดังนั้นเข็มทิศจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ซือหนาน" (เข็มชี้ทิศใต้)
จีนไม่เพียงแต่เป็นชาติแรกของโลกที่ประดิษฐ์เข็มทิศขึ้น แต่ยังเป็นชาติแรกที่นำเข็มทิศไปใช้ในการเดินเรืออีกด้วย ปลายศตวรรษที่ 11 ได้มีการเริ่มนำเข็มทิศไปใช้ในการเดินเรือ เมื่อเข็มทิศใช้กันแพร่หลายมากขึ้นก็มีการปรับปรุงรูปลักษณ์ของเข็มทิศให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น ในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้เริ่มมีการประกอบเข็มทิศจากเข็มแม่เหล็กเข้ากับฐานซึ่งได้ขีดเส้นแบ่งทิศทางต่างๆ ไว้ เข็มทิศชนิดนี้มีชื่อเรียกว่า "หลัวผาน" ต่อมาในสมัยราชวงศ์หยวนก็มีผู้ประดิษฐ์เข็มทิศแบบตั้งขึ้น เรียกว่า "จื่อหนานกุย" (เต่าชี้ทิศ) และ "จื่อหนานอี๋ว์" (ปลาชี้ทิศ)
คุณูปการที่สำคัญที่สุดของเข็มทิศคือประโยชน์ใช้สอยในกิจการเดินเรือ การใช้เข็มทิศมีส่วนช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเทคนิคการเดินเรือ ส่งผลให้กิจการเดินเรือได้รับการพัฒนาและมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของกิจการเดินเรือของมนุษยชาติ ในสมัยซ่งใต้ พ่อค้าชาวอาหรับและชาวเปอร์เซียที่โดยสารเรือประมงของจีนบ่อยๆ กลุ่มหนึ่งได้เรียนรู้วิธีการประดิษฐ์เข็มทิศและนำความรู้ดังกล่าวเผยแพร่ไปสู่โลกตะวันตก ต่อมาช่วงปลายศตวรรษที่ 12 ต้นศตวรรษที่ 13 ประเทศอาหรับและยุโรปจึงได้เริ่มใช้เข็มทิศในการเดินเรือ ซึ่งเป็นเวลาให้หลังจากจีนถึงร้อยกว่าปี
ฮวงจุ้ย
เฟิงสุ่ยหรือฮวงจุ้ยเป็นวัฒนธรรมที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีน ฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์ใหญ่และลึกซึ้ง มีความเป็นมายาวนานและถือเป็นเนื้อหาส่วนสำคัญที่ประกอบขึ้นเป็นวัฒนธรรมเร้นลับของจีนโบราณ ฮวงจุ้ยเป็นวิชาว่าด้วยการคัดเลือกสิ่งมงคลและหลีกเลี่ยงสิ่งอัปมงคลที่แพร่หลายจนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีเฉพาะในประเทศจีน ฮวงจุ้ยเป็นศาสตร์และศิลป์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม แนวทางพื้นฐานของฮวงจุ้ยจะเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งปลูกสร้างและคนกับธรรมชาติ รวมเรียกว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างฟ้ากับคน" แนวทางนี้สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องจักรวาลและทัศนะด้านความงามที่ "ฟ้าและคนหลอมรวมเป็นหนึ่ง" ในอารยธรรมเก่าแก่หลายพันปีของจีน
รากฐานและแนวคิดหลักของศาสตร์ฮวงจุ้ยอ้างอิงมาจากคัมภีร์อี้จิง ฮวงจุ้ยมีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการเลือกและจัดการที่พักอาศัยตลอดจนสิ่งแวดล้อมในการใช้ชีวิต ขอบเขตของเนื้อหาส่วนนี้ประกอบด้วยการวางผังการปลูกสร้างที่พักอาศัย สุสาน หมู่บ้าน เมือง ฯลฯ สิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับสุสานเรียกว่า "อินจ๋าย" ส่วนสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับการตั้งถิ่นฐาน บ้านเรือนและสิ่งแวดล้อมของคนที่ยังมีชีวิตอยู่เรียกว่า "หยางจ๋าย" รากฐานของศาสตร์ฮวงจุ้ยมาจากแนวคิดปรัชญาหยินหยางในคัมภีร์อี้จิง นำมาผสมผสานกับความเชื่อต่างๆ เช่น ธาตุทั้งห้า แผนภูมิแปดเอกลักษณ์ ฤกษ์ทั้งสิบสอง ทิศทางของสุสานทั้งยี่สิบสี่และรหัสของแผนภูมิจักรวาล กลายเป็นพื้นฐานทางทฤษฎีและวิถีปฏิบัติของศาสตร์ฮวงจุ้ย นอกจากนี้ฮวงจุ้ยยังสะท้อนให้เห็นถึงการผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวของคนกับธรรมชาติและคนกับโลกภายนอก ผ่านทางมโนทัศน์ความเป็นสิริมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับจักรวาลของชาวจีน
ศาสตร์ฮวงจุ้ยจะพิถีพิถันกับการเลือกทำเลปลูกบ้าน ทิศทาง ตลอดจนการออกแบบและการวางโครงสร้างภายใน เพราะเชื่อว่าบ้านพักอาศัยส่งผลกระทบต่อจิตใจ อารมณ์ สุขภาพของผู้อยู่อาศัย ทั้งยังมีผลต่อหน้าที่การงาน โชคลาภและความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย ในภาษาจีนมีสำนวนเกี่ยวกับฮวงจุ้ยที่ใช้บ่อย ได้แก่ "zuò běi cháo nán" (ตั้งบนทิศเหนือหันสู่ทิศใต้) "bèi shān wàng shuǐ" (หลังพิงภูเขาหน้าหันสู่น้ำ) และยังมีคำอื่นในภาษาจีนที่เกี่ยวข้องกับฮวงจุ้ย ได้แก่ "lù chōng" (ถนนตัดพุ่งชน) "chuān xīn" (ทะลุใจกลาง) "duàn liáng" (คานหัก)
ฮวงจุ้ยมีวิวัฒนาการยาวนาน ระหว่างนี้ได้มีการปนเอาความเชื่อเร้นลับจำนวนมาก ซ้ำยังมีการขยายความความเชื่องมงายเหล่านี้ ประกอบกับผลกระทบจากประเพณี ทัศนคติและความคิดความเชื่อดั้งเดิม ทำให้แก่นสารสำคัญของศาสตร์ฮวงจุ้ยจำนวนมากไม่ได้รับการสืบทอดต่อมา และเกิดทฤษฎีลวงโลกมากมายที่นำพาผู้ศรัทธาไปในทางที่ผิด จนกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ฮวงจุ้ยถูกมองว่าเป็นศาสตร์งมงาย