วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

第八课:请慢一点儿说。 บทที่ 8: ช่วยพูดช้าหน่อยได้ไหม

第八课:请慢一点儿说。
บทที่ 8: ช่วยพูดช้าหน่อยได้ไหม

บทสนทนาที่ 1

  • zhè shì shén me yì si
    这  是  什  么  意 思?
    ตรงนี้หมายความว่าอะไรครับ
  • qǐng màn yì diǎnr shuō
    请   慢  一 点儿 说。
    ช่วยพูดช้าหน่อยได้ไหมครับ

บทสนทนาที่ 2

  • qǐng bú yào dǎ kāi kōng tiáo
    请  不  要  打 开  空  调!
    อย่าเปิดแอร์ได้ไหมครับ
  • bù hǎo yì si wǒ bù zhī dào nǐ gǎn mào le
    不 好  意 思。我 不 知  道  你  感  冒  了。
    ขอโทษที ผมไม่รู้ว่าคุณเป็นหวัด
  • méi guān xi
    没  关  系。
    ไม่เป็นไรครับ


คำอธิบายการใช้ภาษา

1. 一点儿

"一点儿"(yī diǎnr) หมายถึง "นิดหน่อย" วลีนี้สามารถวางไว้หลังคำกริยา คำคุณศัพท์และคำวิเศษณ์ได้ ส่วนคำว่า "儿"(ér) ในวลีนี้ไม่มีความหมาย แต่เติมไว้เนื่องจากเป็นความเคยชินในการออกเสียง

2. 不要……

"不要……"(bú yào) ในบทนี้บ่งบอกว่าประโยคเป็นประโยค "คำสั่ง" มีความหมายว่า "อย่า" ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า "ไม่ต้องการ"

3. 打开

วลี "打开"(dǎ kāi) มีความหมายว่า "เปิด" เดิม "开"(kāi) ก็เป็นคำกริยาและคำคุณศัพท์อยู่แล้ว เช่น "开空调" (kāi kōng tiáo, เปิดแอร์ "开" ทำหน้าที่เป็นคำกริยา), "空调是开的"(kōng tiáo shì kāi de, แอร์เปิดอยู่ "开" ทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์)

4. คำช่วยน้ำเสียง "了"

"了" ในประโยค "你感冒了" (nǐ gǎn mào le)วางไว้หลังคำกริยา แสดงความหมายว่ากริยาได้เสร็จสิ้นลงแล้วหรือได้มีการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นสภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง

เกร็ดวัฒนธรรม

ตัวอักษรจีนและภาษาถิ่น


ตัวอักษรจีนเป็นระบบตัวอักษรที่เก่าแก่และมีคนใช้มากที่สุดในโลกระบบหนึ่ง จากหลักฐานข้อมูลเท่าที่ขุดค้นพบได้ในปัจจุบันยืนยันว่า ตัวอักษรจีนมีประวัติความเป็นมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี นับจากตัวอักษรเจี่ยกู่หรือตัวอักษรซึ่งสลักบนกระดองเต่าในสมัยราชวงศ์ซาง ตัวอักษรเจี่ยกู่เป็นอักษรภาพเลียน(เซี่ยงสิงจื้อ) ทั้งยังเป็นตัวอักษรที่แสดงเสียงด้วย ทุกวันนี้ก็ยังมีการใช้ตัวอักษรภาพเลียนจำนวนหนึ่งซึ่งแลดูพริ้วไหวเสมือนจริงในระบบตัวอักษรจีน

ปัจจุบันระบบตัวอักษรจีนแบ่งออกเป็นสองระบบใหญ่ได้แก่ ระบบตัวเต็มและระบบตัวย่อ ระบบตัวเต็มเป็นระบบที่ใช้ในไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊าและกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในทวีปอเมริกาเหนือ ส่วนระบบตัวย่อเป็นระบบที่ใช้ในจีนแผ่นดินใหญ่ มาเลเซีย สิงคโปร์และกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าระบบการเขียนของสองระบบนี้จะต่างกัน แต่สำหรับตัวอักษรที่ใช้บ่อยนั้นมีจำนวนตัวอักษรที่แตกต่างกันไม่ถึง 25% นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและเกาหลีก็ได้รับเอาระบบตัวอักษรจีนไปใช้ในภาษาของตนตั้งแต่สมัยโบราณ ระบบตัวอักษรจีนในภาษาญี่ปุ่นเป็นระบบตัวอักษรที่ได้ถูกปรับย่อแล้ว แต่ก็มีตัวอักษรบางส่วนที่ยังคงวิธีการเขียนแบบอักษรจีนโบราณเอาไว้ ส่วนระบบตัวอักษรจีนในภาษาเกาหลีนั้นถือว่ามีวิธีการเขียนที่ใกล้เคียงกับวิธีเขียนแบบจีนโบราณมากที่สุด โดยทั่วไปตัวอักษรจีนหนึ่งตัวจะมีหลายความหมายและมีความสามารถในการประกอบคำสูงมาก ทั้งตัวอักษรบางตัวยังสามารถเป็นคำได้ด้วยตัวเอง คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ตัวอักษรจีนมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง การใช้ตัวอักษรที่ใช้บ่อยเพียงประมาณ 2,000 ตัวก็สามารถครอบคลุมการใช้ตัวอักษรในภาษาเขียนได้มากกว่า 98% นอกจากนี้ตัวอักษรจีนยังมีลักษณะเฉพาะคือเป็นตัวอักษรที่แสดงความหมายและเสียง จึงทำให้ประสิทธิภาพในการรับสารโดยการอ่านตัวอักษรจีนสูงตามไปด้วย และเมื่อเทียบตัวอักษรจีนกับตัวอักษรระบบสะกดคำในปริมาณที่เท่ากัน ตัวอักษรจีนจะสามารถถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารได้มากกว่า

ภาษาจีนเป็นภาษาในตระกูลจีน-ทิเบต ในภาษาจีนมีภาษาถิ่นมากมาย ปัจจุบันได้มีจัดหมวดหมู่ของภาษาถิ่นต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นเขตภาษาถิ่น 7 เขตด้วยกัน ภาษาถิ่นเหล่านี้ได้แก่ ภาษาถิ่นเหนือ ภาษาถิ่นอู๋(ภาษาถิ่นเจียงซูและเจ้อเจียง) ภาษาถิ่นเซียง(ภาษาถิ่นหูหนาน) ภาษาถิ่นกั้น(ภาษาถิ่นเจียงซี) ภาษาถิ่นจีนแคะ(ภาษาถิ่นฮากกา) ภาษาถิ่นเย่ว์(ภาษาถิ่นกวางตุ้ง)และภาษาถิ่นหมิ่นหนาน(ภาษาถิ่นฮกเกี้ยน) ในบรรดาภาษาถิ่นทั้งเจ็ดนี้ ภาษาถิ่นเหนือเป็นภาษาถิ่นที่ชนชาติฮั่นใช้สำหรับสื่อสารมากที่สุดในปัจจุบัน และถือเอาภาษาปักกิ่งเป็นตัวแทนของภาษาถิ่นเหนือ โดยภาษาถิ่นเหนือทุกภาษาจะมีเอกภาพทางโครงสร้างภาษาค่อนข้างสูง พื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นเหนือในการสื่อสารกินเนื้อที่กว้างที่สุดเมื่อเทียบกับภาษาถิ่นอื่นๆ ประชากรที่ใช้ภาษาถิ่นเหนือมีราว 73% ของประชากรทั่วประเทศ ส่วนภาษาถิ่นที่เหลือ 6 ภาษาจะใช้สื่อสารกันทางภาคใต้ของจีน หากพิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ต่างๆ จะใช้ภาษาถิ่นต่างกัน ดังนั้นผู้คนต่างถิ่นฐานกันก็มักจะสื่อสารกันไม่เข้าใจ ทว่า ระบบตัวอักษรที่ประชาชนทั่วประเทศจีนใช้นั้นเหมือนกันทุกประการ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบตัวอักษรของภาษาถิ่นต่างๆ ของจีนมีความเป็นเอกภาพสูง ดังนั้นภาษาที่ใช้จึงถือว่าเป็นภาษาเดียวกันคือภาษาจีน

การขอร้องและขอบคุณ

ในภาษาจีนมีวิธีพูดแสดงความขอบคุณและขอโทษที่ตายตัว โดยทั่วไป เวลากล่าวขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น จะขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า "má fan……" (รบกวนช่วย...) หรือ "qǐng……" (กรุณา...) หากขอความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย เช่น ขอยืมดินสอ ถามทาง ฝากข้อความ หรือเรียกคนมารับโทรศัพท์ คนจีนมักจะไม่เพิ่มคำสุภาพเข้าไปในประโยค โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาพูดกับญาติหรือเพื่อนสนิท เพราะคนจีนเชื่อว่าผู้ที่ให้ความช่วยเหลือสามารถรับรู้ถึงความขอบคุณของตน จึงไม่จำเป็นต้องพูดออกมา เมื่อคู่สนทนากล่าวว่า "xiè xie" (ขอบคุณค่ะ/ครับ) โดยทั่วไปเราจะตอบกลับไปว่า "méi shénme" (ไม่เป็นไรค่ะ/ครับ) หรือ "bú yòng xiè" (ไม่ต้องขอบคุณหรอก)

เมื่อต้องการขอร้องหรือขัดจังหวะขณะที่ผู้อื่นกำลังสนทนาอยู่ โดยทั่วไปจะพูดว่า "láo jià" (ขอโทษค่ะ/ครับ) เมื่อต้องการขอทางจะพูดว่า "jiè guāng" (ขอทางหน่อยค่ะ/ครับ) หรือ "qǐng ràng yi ràng" (ช่วยหลบทางหน่อยค่ะ/ครับ) หากต้องการถามคำถามให้เพิ่มสำนวนว่า "qǐng wèn" (ขอถามหน่อยค่ะ/ครับ) ไว้หน้าประโยค